การโฆษณา หมายถึง กลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับข้อมูลข่าวสารของสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง อีกทั้งการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ยังมีส่วนต่อการตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์ของลูกค้า
การประชาสัมพันธ์ หมายถึง การเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงและความคิดเห็นต่างๆ ไปยังสาธารณะเพื่อเข้าถึงกลุ่มประชาชนเป้าหมาย วิธีการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ ให้ประชาชนเกิดความนิยมศรัทธาต่อหน่วยงานองค์การและสถาบันแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานองค์การต่างๆ กับประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์มีจุดมุ่งหมายคือการหวังผลความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชน เพื่อทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างสำเร็จลุล่วง
การโฆษณาสินค้า หมายถึง การใช้ประโยชน์จากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่หลายช่องทางในปัจจุบัน ในการประชาสัมพันธ์และนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสินค้าและบริการต่อสาธารณชน โดยการโฆษณาสินค้าผู้ประกอบการจะต้องทำการระบุชื่อสินค้าและบริการ รวมทั้งชื่อของบริษัทหรือองค์กรเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งสื่อโฆษณาสามารถแบ่งได้เป็นหลายลักษณะในรูปแบบต่างๆ กัน
- สื่อจูงใจที่มีจุดประสงค์เพื่อการชักจูงผู้บริโภค โดยวิธีการสื่อสารด้วยคำพูดหรือการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งการโฆษณาไม่เพียงแค่สามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการได้เพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าใจถึงตัวผลิตภัณฑ์จนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตาม ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการวางแผนไว้
- รูปแบบการจูงใจด้วยเหตุผลจริงและเหตุผลสมมุติ คือสื่อที่ชักจูงโดยแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณสมบัติในด้านที่ดีและด้านที่เป็นประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ร่วมกับการนำหลักการตอบสนองความต้องการด้านจิตวิทยามาใช้ในการนำเสนอสู่สาธารณะ
- นำเสนอข้อมูลข่าวสารของสินค้า และบริการผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยวิธีทางการตลาดออนไลน์ เป็นการดำเนินงานที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สื่อเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
- เสนอขายความคิดของผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีการสร้างแรงจูงใจกับกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดทัศนคติที่ดีและเกิดความสนใจในตัวของสินค้าและบริการ จนส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะบริโภคสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ ซึ่งผู้ประกอบการเสนอขาย
- ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องระบุบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งระบุผู้สนับสนุนสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยการแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการได้ทำการโฆษณาขายสินค้า(advertising) ไม่ใช่ทำการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อหลอกลวงผู้บริโภค
- คิดค่าใช้จ่ายตามรูปแบบและลักษณะของสื่อ ซึ่งมีการนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวารสารและนิตยสาร หรือสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องคำนวณงบประมาณต้นทุนในการลงโฆษณาบนสื่อต่างๆ ให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิตโดยรวมด้วยเช่นกัน
หลักในการโฆษณาสินค้า
การโฆษณาสินค้าและบริการ เป็นการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเกิดการตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ซึ่งหลักการโฆษณาขายสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้
- ต้องนำเสนอข้อดีของผลิตภัณฑ์ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับหลังจากบริโภคสินค้าและบริการ เพื่อชี้แนะให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรืออาจใช้วิธีการนำเสนอความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสมกับคุณภาพในการชักจูงผู้บริโภค
- นำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรเลือกนำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์และชี้ให้ลูกค้าเห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ
- นำบุคคลที่ได้รับความนิยมมาเป็นแบบโฆษณา จะทำให้ผู้บริโภคมีแรงจูงใจในการใช้ผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำเสนอสินค้าด้วยวิธีดังกล่าว แสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าบุคคลสำคัญก็ยังใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน จึงมีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวผู้บริโภค
ประโยชน์ของการโฆษณาสินค้า
การโฆษณาสินค้าและบริการ สร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภครวมทั้งตัวผลิตภัณฑ์เอง ซึ่งข้อดีของการทำการตลาดด้วยโฆษณามีดังนี้
- ผู้บริโภคสามารถรับข้อมูลข่าวสารของสินค้าและบริการผ่านสื่อได้อย่างรวดเร็ว
- ผู้บริโภคสามารถเห็นโฆษณาได้ง่ายและตลอดเวลา
- ผู้ผลิตสามารถใช้สื่อโฆษณาในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
- ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้สื่อโฆษณาที่มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสินค้าและบริการนั้นๆ
- การโฆษณามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการนั้นๆ ของลูกค้า
วัตถุประสงค์ของการโฆษณา
วัตถุประสงค์ของการโฆษณาโดยทั่วไปนั้น มีดังนี้
- เพื่อแนะนำสินค้าและบริการต่างๆ ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย
- เพื่อนำเสนอข้อมูลของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ ประโยชน์ คุณสมบัติเด่น หรือความสำคัญของสินค้าและบริการนั้นๆ เป็นต้น
- เพื่อทำให้สินค้าและบริการมีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นที่จดจำได้ง่ายแก่ผู้บริโภค
- เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่กลุ่มเป้าหมาย ในการตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ
- เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้บริโภคเกิดการใช้สินค้าและบริการชนิดนั้นๆ อย่างทั่วถึงและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างฐานลูกค้าในการแข่งขันกับคู่แข่งทางตลาด ที่มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน
- เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่จดจำได้ในระยะยาวแก่กลุ่มสาธารณชน
- เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นตัวเลือกแรกในความคิดของผู้บริโภค
- เพื่อทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ เกิดภาพลักษณ์ที่ดี
- เพื่อสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ในกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งเป็นประโยชน์ให้แก่สินค้าและบริการใหม่ที่จะออกมาจำหน่ายในอนาคต
องค์ประกอบของการโฆษณา
องค์ประกอบของการโฆษณา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ผู้โฆษณา (advertiser)
ผู้ประกอบการหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการ มีหน้าที่ในการประสานงานร่วมกับฝ่ายการตลาดสำหรับการโฆษณา โดยผู้โฆษณาจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบงบประมาณค่าใช้จ่ายในการลงสื่อโฆษณาทั้งหมด และในโฆษณาจะต้องมีการระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการให้ชัดเจน
2. สิ่งโฆษณา (advertisement)
โฆษณาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารของผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยภายในสื่อจะต้องประกอบไปด้วยข้อความ และรูปภาพที่สามารถแสดงถึงตัวของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ได้
3. สื่อโฆษณา (advertising)
สื่อที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการเลือกใช้สำหรับเผยแพร่สิ่งโฆษณาไปยังสาธารณชน ตัวอย่างเช่น สื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งสื่อโฆษณาที่ใช้นำเสนอจะต้องมีความสอดคล้องเหมาะสมกับสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ เพื่อจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสื่อต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- สื่อโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ (print Media) หมายถึง การใช้ตัวหนังสือในการโฆษณาเพื่อถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและความคิดของผลิตภัณฑ์ไปยังผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น คู่มือการใช้สินค้าแบบตัวอย่างสินค้า (catalogs) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์รายวัน ใบปลิว นิตยสาร โปสเตอร์ หรือแผ่นพับ เป็นต้น
- สื่อโฆษณาประเภทกระจายเสียงและแพร่ภาพ (broadcasting media) หมายถึง การใช้เสียง ตัวอักษร และภาพในการโฆษณา ตัวอย่างเช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือเสียงตามสาย เป็นต้น
- สื่อโฆษณาประเภทอื่นๆ หมายถึง สื่อโฆษณาประเภทอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สื่ออินเทอร์เน็ต สื่อภาพยนตร์ สื่อโฆษณานอกสถานที่ ได้แก่ ป้ายโฆษณาที่อยู่ตามบริเวณสถานที่ต่างๆ ป้ายโฆษณาบนรถประจำทาง ป้ายโฆษณา ณ ที่พักผู้โดยสาร หรือป้ายโฆษณาที่ถูกติดตั้งไว้บนอาคารสูง เป็นต้น
4. กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย (consumer)
ผู้บริโภคสินค้าและบริการ หรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับชมผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อโฆษณาแล้วมีความชื่นชอบจนนำไปสู่การตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการชนิดนั้นๆ
โครงสร้างที่ต้องมีในข้อความโฆษณา
โครงสร้างที่จำเป็นต้องมีอยู่ในข้อความโฆษณามีองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ได้แก่
1. หัวเรื่องหรือพาดหัว
ส่วนแรกของโฆษณาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเกิดความสนใจ โดยส่วนของหัวเรื่องหรือการพาดหัวนี้ จะต้องเน้นการใช้ถ้อยคำที่สั้น กะทัดรัด ได้ใจความ และมีการใช้ภาษาที่สะดุดตา สามารถดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ดี นอกจากนี้จะต้องใช้ตัวอักษรที่มีความชัดเจนและโดดเด่น
2. พาดหัวรอง
ข้อความที่ใช้เพื่อขยายเนื้อความของหัวเรื่อง เพื่อบอกถึงใจความสำคัญให้มีความชัดเจนมากขึ้น ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ดี แต่อย่างไรก็ตามส่วนนี้จะมีหรือไม่ก็ได้
3.ข้อความโฆษณา
เนื้อหาหลักที่จะเน้นการโฆษณาสินค้าและบริการโดยตรง เนื้อหาในส่วนนี้ก็จะบอกถึงประโยชน์ สรรพคุณของสินค้า คุณภาพและราคา รวมถึงการเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันกับยี่ห้ออื่น เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน รวมถึงอาจมีความคิดเห็นของบุคคลที่มีชื่อเสียงระบุลงในส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือและคล้อยตาม รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น สำหรับรูปแบบในการนำเสนอ ส่วนนี้จะใช้ตัวอักษรที่เล็กกว่าส่วนหัวเรื่อง
4. ภาพประกอบ
เป็นภาพที่จะช่วยเสริมแต่งให้โฆษณาดูน่าสนใจมากขึ้น โดยลักษณะของภาพที่จะนำมาใช้ประกอบต้องเป็นภาพสินค้าหรือภาพที่มีความเกี่ยวข้อง และมีความดึงดูดที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกสะดุดตาและเกิดความสนใจ นอกจากนี้ภาพประกอบก็สามารถขยายความของข้อความโฆษณาให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจมากขึ้น
5. สรุป
ส่วนท้ายสุดของการโฆษณา ที่จะทำให้ผู้รับข่าวสาวรู้สึกประทับใจ และเกิดการจดจำสินค้าและบริการในโฆษณาได้ง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อาจเขียนโดยสรุปประโยชน์ของสินค้าเข้าไปอีกครั้ง เพื่อเน้นถึงผลิตภัณฑ์และทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความกระตุ้นที่อยากจะลองใช้สินค้าและบริการมากขึ้น ดังนั้นส่วนสรุป จึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กับส่วนอื่นๆ
การใช้ภาษาในการโฆษณาสินค้าและบริการ
การโฆษณานอกจากต้องมีโครงสร้างหลักอย่างครบถ้วนแล้ว ก็จะต้องมีการใช้ภาษาที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังหรือผู้อ่านได้ดีด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการคิดค้นสำนวนแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการโฆษณาอยู่เสมอ และนอกจากนี้ภาษาที่เหมาะกับการโฆษณา ก็จะมีความความชัดเจน กะทัดรัดและกระตุ้นความสนใจได้ดี รวมถึงต้องเป็นภาษาที่จดจำง่ายและมีความทันสมัยอยู่เสมอ
- เรียกร้องความสนใจได้ดี คือจะต้องเป็นภาษาที่กระตุ้นความรู้สึกของลูกค้าให้เกิดความสนใจ และเป็นภาษาที่มีความสุภาพ เข้าใจง่าย
- ให้ความกระจ่างแก่ลูกค้า เป็นการใช้ภาษาที่สามารถบอกถึงคุณภาพของสินค้าได้อย่างชัดเจน
- มีการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมมั่นมากขึ้น
- ใช้ถ้อยคำที่จะช่วยยั่วยุให้เกิดการตัดสินใจง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรวดเร็ว
- ภาษที่ใช้ต้องมีความสั้นและกระชับ ไม่ใช่คำฟุ่มเฟือย สามารถสื่อความหมายได้ดีเพียงแค่ข้อความสั้นๆ เท่านั้น
- มีความชัดเจน ไม่ใช้คำกำกวมที่จะทำให้ผู้รับสารตีความหมายได้หลายทาง เป็นถ้อยคำที่อ่านปุ๊บก็เข้าใจถึงความหมายที่เจ้าของโฆษณาต้องการสื่อทันที
ข้อควรคำนึง ในการใช้ภาษาเพื่อโฆษณา
อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาเพื่อการโฆษณา ก็มีข้อควรคำนึงดังต่อไปนี้
- ควรใช้ภาษาที่มีความเป็นสามัญ เข้าใจง่ายและมีความสุภาพ นุ่มนวล สละสลวย
- ควรใช้ถ้อยคำภาษาที่สามารถสื่อความหมายได้ตรงกับความต้องการ และต้องมีการสอดคล้องกับวัฒนธรรมในการใช้ภาษามากที่สุด
- ควรใช้ถ้อยคำภาษาให้มีความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักภาษาไทย โดยหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาแสลงหรือคำที่ต่ำกว่ามาตรฐานเด็ดขาด
- ต้องใช้ภาษาที่มีความถูกต้องตามแบบแผน หรือภาษาแบบทางการ ไม่ใช่ถ้อยคำที่ตัดหรือมีการย่อให้รู้กันเฉพาะกลุ่มหรือบุคคลเท่านั้น
- พยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่มีความหมายกำกวม เพราะจะทำให้ผู้รับข่าวสาวเข้าใจไปในทางที่ผิดได้ โดยเฉพาะถ้อยคำแบบสองแง่สองมุมและคำผวนต่างๆ
- ควรเลือกใช้คำที่มีความเหมาะสม ไม่ส่อไปในทางส่อเสียดหรือทับถมผู้อื่น
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่เป็นวิชาการหรือมีศัพท์เทคนิคเกินคามจำเป็น เพราะผู้คนทั่วไปมักจะไม่ชินกับคำเหล่านี้และอาจเบื่อหน่ายได้
- ภาษาที่ใช้ในการโฆษณาจะต้องไม่มีความโลดโผนและไม่เป็นการโฆษณาเกินจริงเด็ดขาด
ช่องทางการโฆษณาออนไลน์
ในปัจจุบันการโฆษณาออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการเพิ่มยอดขายและกระจายสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีประสิทธิผลไม่น้อยเลยทีเดียว การโฆษณาออนไลน์จึงมีความสำคัญ และบรรดานักธุรกิจออนไลน์ทั้งหลายไม่ควรมองข้าม
Facebook Ads
การโฆษณาในรูปแบบนี้ มีเป้าหมายเพื่อโปรโมทสินค้าและบริการบนแฟนเพจให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว รวมถึงเป็นการเพิ่มยอดขายผ่านทางสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ก็สามารถที่จะเพิ่มยอดไลน์และยอดฟอลโลแฟนเพจได้เหมือนกัน
จุดสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการทำ Facebook Ads มากขึ้น ก็คือเป็นการโฆษณาและขายสินค้าที่สามารถเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเจาะจงมาก เพราะจากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook จึงทำให้ผู้ใช้แต่ละคนมีความชอบและความสนใจอะไร แบบไหน ซึ่ง Facebook Ads ก็จะทำการคัดกรอง และพุ่งเป้าการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
Banner Ads
การโฆษณาในรูปแบบนี้มีจุดประสงค์ เพื่อสร้างความจดจำและการรับรู้ในแบรนด์สินค้าให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ในปัจจุบัน Banner Ads ก็มีการพัฒนาไปมาก แต่อย่างไรก็ตามการลงแบนเนอร์ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นก็คือ กลุ่มนักธุรกิจหรือเจ้าของเว็บไซต์ส่วนใหญ่ มักจะวางแบนเนอร์ไว้ในตำแหน่งที่แตกต่างจากปกติ คือวางไว้ในส่วนข้างของเว็บไซต์หรือล่างสุดของเว็บไซต์ รวมถึงการทำแบนเนอร์แบบป็อบอัพที่จะแสดงให้เห็นได้เพียงแค่ 1-3 วินาทีเท่านั้น ซึ่งขัดกับธรรมชาติของลูกค้า ที่มักจะมองหาแบนเนอร์จากด้านบนสุดของเว็บไซต์เสมอ จึงอาจทำให้ลูกค้าเห็นแบนเนอร์น้อยลงหรือไม่ทันได้คลิกเข้าไปยังแบนเนอร์
Native Advertising
การโฆษณาที่เพิ่งได้รับความนิยมไม่นานแต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะเป็นการโฆษณาแบบแฝง ที่มีความแนบเนียนที่สุด โดยจะทำการโฆษณาแฝงไปในรูปของคอนเทนท์อย่างแนบเนียน ด้วยจุดประสงค์ เพื่อให้เกิดการรับรู้และจดจำในสินค้าและบริการแก่ลูกค้า รวมถึงเป็นการให้ข้อมูลสินค้า เพื่อให้เกิดการรู้จักมากขึ้น โดยการโฆษณาในรูปแบบนี้ คอนเทนท์ต่างๆ มักจะถูกเผยแพร่ไปยังเครือข่ายออนไลน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเป็นการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของตนเองหรือไม่ใช่ก็ได้ นอกจากนี้มักจะมีการตบท้ายโฆษณาด้วยการบอกใบ้ว่า สนับสนุนโดย…
Paid Search
การทำให้เว็บไซต์ติดอันดับหน้าหนึ่งของการค้นหาบน Google เพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาและมีการคลิกเข้าสู่เว็บไซต์มากขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจซื้อในอนาคต เพราะตามธรรมชาติของคนเราแล้ว มักจะให้ความสนใจกับเว็บไซต์ที่อยู่หน้าแรก หรือค้นพบเป็นอันดับแรกๆ มากที่สุด Paid Search จึงมีความสำคัญมาก
Remarketing
การโฆษณาในลักษณะการเชิญชวนให้ลูกค้าที่เคยมาใช้บริการ กลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยการทำการตลาดในลักษณะนี้ จะเริ่มจากการเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่เคยมาซื้อสินค้าหรือบริการ ว่าพวกเขามีความชอบและสนใจสินค้าและบริการอะไรบ้าง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำเป็นโฆษณาที่น่าสนใจไปโพสต์ลงตามเว็บไซต์หรือแหล่งอื่นๆ ก็จะทำให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้เห็นแล้วกลับมาซื้อสินค้าบนเว็บไซต์อีกครั้ง
อิทธิพลของสื่อโฆษณาเกี่ยวกับสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณะสุข เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการผลิต การจำหน่าย การสั่งนำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักร และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุม ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ยา เครื่องมือแพทย์ สารเสพติดให้โทษ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ความเหมาะสม ประโยชน์จากการใช้และการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ด้านสุขภาพร่างกาย
ผลของการเลือกรับสื่อโฆษณาเกี่ยวกับสุขภาพทางกาย จากการที่ผู้ผลิตได้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันโดยมีการทำให้สินค้าของตนที่ผลิตออกมามีคุณภาพและราคาถูก ย่อมเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในการเลือกพิจารณาได้หลากหลาย และสามารถเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ ซื้อสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ เมื่อมีการบริโภคแล้วโอกาสที่จะเกิดความพอใจมีสูง เนื่องจากได้สินค้าที่มีคุณภาพ แต่ถ้าสินค้าบางชนิดมีให้เลือกน้อย ในขณะที่ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องกินและใช้มาก จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย โดยการผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาขาย ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพทางการ เช่น ดื่มนมแล้วเกิดอาการท้องเสีย ผงซักฟอกบางยี่ห้อ ซักแล้วเกิดการแพ้อย่างรุนแรง ดังนั้นสื่อโฆษณาจึงมีอิทธิพลให้คนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริโภคโดยตรง
ด้านสุขภาพจิต
ผลของการเลือกรับสื่อโฆษณาเกี่ยวกับสุขภาพจิต คือ ความรู้สึกพึงพอใจและความไม่พึงพอใจในการบริโภคสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ มีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตของผู้บริโภค เช่น มีการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติเป็นจริงตามคำโฆษณาย่อมส่งผลให้เกิดความพึงพอใจ ส่วนสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผู้บริโภคเลือกใช้มีคุณภาพไม่เป็นจริงตามที่ผู้ผลิตโฆษณา ส่งผลเสียหายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ย่อมทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในสินค้าและบริการต่างๆ นอกจากนี้ การซื้อสินค้าหรือบริการสุขภาพบางชนิดอาจมีราคาสูง เมื่อได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็จะก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวลหรือเสียใจกับการตัดสินใจที่ผ่านมาได้ ดังนั้นสื่อโฆษณาจึงส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้บริโภคโดยตรง
ด้านสุขภาพสังคม
สื่อที่มีความสร้างสรรค์จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในทางที่พึงประสงค์ ในขณะที่สื่อที่นำเสนอพฤติกรรมสุขภาพที่ไมเหมาะสม แต่พยายามนำเสนอว่าเป็นค่านิยมของสังคมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในทางที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การโฆษณาอาหารประเภทจานด่วน ซึ่งเป็นอาหารที่มีการแข่งขันในการโฆษณาที่สูงมากทั้งที่อาหารเหล่านี้มีปริมาณแคลอรีสูงและมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณต่ำ เด็กหรือเยาวชนที่รับประทานอาหารเหล่านี้มากๆ จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิดในช่วงชีวิตต่อไป ทำให้เป็นปัญหาสาธารณสุขของบุคคลในสังคมต่อไป
ด้านสุขภาพปัญญา
สื่อโฆษณามีอิทธิพลต่อสุขภาพทางปัญญา เพราะมีสื่อโฆษณาจำนวนมากที่ใช้กลวิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์จูงใจผู้บริโภคให้มีความต้องการสินค้า ส่งเสริมค้านิยมหรือแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เป็นวัตถุนิยมแทนที่จะเป็นการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เน้นการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ด้วนความมีเหตุผล ความรู้จักพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เช่น การที่เราจะซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งเราจะต้องตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลที่เหมะสมว่าสมควรซื้อหรือไม่ ดังบทกลอนของสุนทรภู่ที่ว่า ”ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทังคาวหวาน” ความรู้จักพอประมาณคือซื้อในจำนวนเท่าที่จำเป็น ในราคาที่เหมาะสม การมี๓มิคุ้มกันคือ การมีสติสัมปชัญญะก่อนการตัดสินใจซื้อ ไม่หลงใหลหรือตกเป็นเหยื่อของคำโฆษณา หรือสิ่งจูงใจใดๆ ที่ผู้จำหน่ายนำมาส่งเริมการขาย เช่น ของแถม การใช้ชิ้นส่วนชิงรางวัล เป็นต้น เพราะจะทำให้เราตัดสินใจซื้อสินค้านั้นด้วยความต้องการทางจิตวิทยามากกว่าเป็นการตัดสินใจซื้อโดยใช้เหตุผลและปัญญา
การโฆษณาแบบ Advertorial คืออะไร
คำว่า Advertorial นั้น มาจากการผสมผสานระหว่างคำว่า “Advertisement” ที่แปลว่า “โฆษณา” และ “Editorial” ที่หมายถึงบทความวิเคราะห์หรือแสดงความเห็นที่มักจะเห็นกันในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารนั่นเอง (ต่างจากคอมลัมน์ข่าวปกติ ที่เป็นเพียงการรายงานข่าว มิได้มีการแสดงความคิดเห็นผู้เขียน)
ดังนั้น Advertorial จึงหมายถึงโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเป็นคอลัมน์ปกติของตัวสื่อเอง แต่แท้จริงแล้วเป็นบทความที่เขียนโดยผู้ลงโฆษณา จึงอาจเรียกได้ว่า Advertorial นั้น คือ Infomercial ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์
ผู้โฆษณานั้นอาจจะเลือกการลงโฆษณาเป็นรูปแบบนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า โดยปกติผู้อ่านเห็นโฆษณาในสิ่งพิมพ์แล้วอาจทำการเปิดผ่านโดยไม่ได้สนใจมากนัก แต่การลงในรูปแบบคอลัมน์นั้นจะสามารถจับกลุ่มนักอ่านได้ พร้อมกับสามารถสื่อข้อความให้กับคนอ่านได้มากกว่ารูปแบบโฆษณาในสิ่งพิมพ์ปัจจุบันที่มักจะต้องประหยัดคำพูด เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านทั่วไปได้สนใจ
การโฆษณารูปแบบ Advertorial นี้ก็สามารถมีจุดประสงค์แอบแฝงได้ คือการทำให้ผู้อ่านคิดว่าคำพูดโฆษณาเชิญชวนแนะนำที่อ่านอยู่นั้น เป็นสิ่งที่ทางสิ่งพิมพ์ที่ตนเองอ่านอยู่เป็นผู้เขียนและแนะนำ เพื่อทำให้ผู้อ่านเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งเพื่อเป็นการป้องกันการผิดจรรยาบรรณ ทางสิ่งพิมพ์จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อความเพื่อบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ผู้อ่านนั้นเป็นโฆษณา Advertorial มิใช่คอลัมน์ของตัวสิ่งพิมพ์เอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น